ไม้ไผ่ วัสดุทดแทนไม้ในอนาคต

ไม้ไผ่ เมื่อนำมาผ่านขั้นตอนหรือการแปรรูปอย่างถูกวิธี จะสามารถป้องกันไม่ให้มอดและแมลงเข้าทำลายได้ เนื้อไม้จะมีความแข็งแกร่งเหมือนไม้เนื้อแข็งหรือเหนือกว่า และมีความยืดหยุ่นสูง โดยเฉพาะเมื่อนนำมาแปรรูปเป็นแผ่นไม้ลามิเนต จะมีความแข็งแกร่งใกล้เคียงกับเหล็กอ่อน (mild steel) เลยทีเดียว และเมื่อเทียบกัน บนพื้นฐานของมวลต่อปริมาตรระหว่างไม้ไผ่ คอนกรีต ไม้เนื้อแข็ง และเหล็กแล้ว ไม้ไผ่เป็นอันดับที่สองรองจากคอนกรีตในเรื่องของความแข็งแรง ( strength) แต่อยู่ในอันดับแรกในเรื่องของความแกร่งและยืดหยุ่น ( stiffness) ซึ่งในอุตสาหกรรมไม้พื้นนั้น พื้นที่ทำจากไม้ไผ่จะมีความแข็ง ( hardness) มากกว่าไม้เนื้อแข็งอย่างไม้โอ๊ค(Oak) เลยทีเดียว

และจากการที่ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นสูง จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการนeมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย เติบโตเร็ว สามารถตัดฟันมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีศักยภาพที่จะเป็นวัสดุทดแทนไม้ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ไผ่เป็นพืชที่มีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป ลำต้นแข็งแรงมีเนื้อไม้แข็ง เกลาให้เรียบได้ ยืดหยุ่น มีน้ำหนักเบา แข็งแต่ดัดให้โค้งงอได้ ถ้าจักเนื้อไม้ให้บางลงสามารถตัดทอนเป็นขนาดต่าง ๆ ได้ ทั้งความยาวและความหนาให้เหมาะสมต่อลักษณะการใช้งานว่าเป็นงานที่ต้องรับน้ำหนักมาก หรืองานประดิษฐ์ตกแต่ง

ในปัจจุบันไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในตลาดโลกมาก โดยถูกนำมาใช้เป็นเยื่อกระดาษ ไม้ปาร์เก้ปูพื้น กระดานอัด และหน่อไม้กระป๋อง การนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์สามารถจำแนกได้ดังนี้

  • 1. ใช้ในงานก่อสร้าง
    ไผ่ที่มีลำต้นขนาดใหญ่เนื้อไม้หนา ปล้องสั้นมักถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรง คงทน และรับน้ำหนักมาก เช่น เสา ฝาผนัง หลังคา และพื้น มีการนำในมาใช้ก่อสร้างสะพาน และทำนั่งร้าน ใช้เป็นส่วนประกอบของบ้านแบบต่าง ๆ ของชนพื้นเมืองที่มีรูปแบบและรูปทรงแตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรม เช่น บ้านในจีน ไทย อินเดีย และแอฟริกา มีการปลูกสร้างบ้านจากไม้ไผ่ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน มีการใช้ไม้ไผ่ทั้งลำในการก่อสร้างหรืออาจผ่าครึ่ง หรือผ่าซีกให้เป็นขนาดต่าง ๆ กัน แล้วนำมาจักสานเป็นแผ่น
  • 2. ใช้ผลิตกระดาษ
    เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ชาวจีนมีการประดิษฐ์กระดาษจากไม้ไผ่ และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับความรู้นี้มาจากประเทศจีน ไผ่ที่ใช้ทำกระดาษได้แก่ ไผ่ป่า หรือไผ่หนาม (Bambusa bambos ( L) Voss) ไผ่สีสุก(Bambusa blumeana J.A & J.H. Schultes ) และไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus (Roxb ) Nees )
  • 3. งานศิลปหัตถกรรม
    ในปัจจุบันนี้งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นงานอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่เป็นที่นิยมชมชอบ และสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น งานที่ประดิษฐ์จาก ไม้ไผ่ ได้แก่ เสื่อปูโต๊ะกันความร้อนจากชามบรรจุอาหาร กระเป๋าถือ หมวก และเครื่องใช้ไม้สอยที่ใช้สำหรับทอผ้า
    งานส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากไม้ไผ่ที่ถูกผ่าเป็นซีก หรือผ่าแล้วเหลาเกลาให้เป็นชิ้นบาง ๆ ก่อนนำมาประกอบเป็นโครงหรือจักสานเป็นลวดลายต่าง ๆ แต่งานบางอย่างอาจใช้ลำต้นและลำต้นใต้ดินทั้งหมดมาประดิษฐ์ตกแต่งแทน เช่น แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ กล่องบรรจุของขนาดต่าง ๆ ไม้ไผ่ที่ถูกนำมาใช้ในงานจักสานได้แก่ Bambusa atra , Gigantochloa apus , G. scortechinii , Schizostachum latifolium ซึ่งมีเส้นใยยาวและยืดหยุ่นได้ดี ส่วนการนำมาแกะสลัก ได้แก่ ไผ่งาช้าง Bambusa vulgaris ไผ่ตง Dendrocalamus asper และไผ่เกรียบ Schizostachum brachycladum
  • 4. เครื่องเรือน
    มีการนำไม้ไผ่มาทำเครื่องเรือนต่าง ๆ ภายในบ้านเรือน ได้แก่ ตู้ เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ ต่าง ๆ ซึ่งนิยมใช้ไม้ไผ่ที่มีลำใหญ่ตรง แข็งแรง ได้แก่ ไม้ไผ่ในสกุล Bambusa สกุล Dendrocalamus และสกุล Gigantochloa
  • 5. การปลูกเพื่อใช้เป็นแนวรั้วบอกเขต แนวป้องกันลมและปลูกประดับ
    ไผ่หลายชนิดมีลักษณะกอและทรงพุ่มเหมาะสมต่อการนำมาปลูกเป็นริ้วและแนวป้องกันลม ได้แก่ ไผ่รวก Thyrsostachys siamensis และ ไผ่เลี้ยง Bambusa multiplex ไผ่หลายชนิดมีทรงพุ่มสวยงามนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่เหลือง ไผ่เกรียบ ไผ่ที่มีหนามแหลมคม เช่น ไผ่หนาม Bambusa bambos เป็นไผ่ที่นิยมปลูกเป็นแนวรั้วกันขโมยให้แก่บริเวณบ้าน หมู่บ้าน และสวนผลไม้ รวมทั้งป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินด้วย

Message us